ในปี 1994 เมื่อโดเมนิโก เด โซเล (Domenico de Sole) ผู้บริหารกุชชี แต่งตั้ง ทอม ฟอร์ด ให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของกุชชีนั้น ทอม ฟอร์ด ยังเป็นดีไซเนอร์ที่ไม่มีใครรู้จักทั้งๆที่ทำงานกับแบรนด์เนมนี้ตั้งแต่ปี 1990 การทำงานที่เข้ากันได้ดีระหว่างสองคนนี้ทำให้กิจการของกุชชีกลับมาเรืองรุ่ง ได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดเมนิโก เด โซเลและ ทอม ฟอร์ด เปรียบเสมือนคู่แฝดในวงการแฟชั่น เรียกชื่อกันสั้นๆว่า Dom-Tom แม้ โดเมนิโก เด โซเล จะเป็นผู้บริหารและ ทอม ฟอร์ด เป็นดีไซเนอร์ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าอัจฉริยภาพของ ทอม ฟอร์ด ทำให้เขามีอำนาจเด็ดขาดในการรังสรรค์ผลงานทุกด้านในนามของกุชชี ไม่ว่าจะเป็นคอลเลคชั่นเสื้อ ส่วนประกอบแฟชั่น น้ำหอม และแม้แต่แคมเปญโฆษณาดังนั้น ทอม ฟอร์ด จึงเป็นภาพลักษณ์ของกุชชี และกุชชีคือทอม ฟอร์ด
ทอม ฟอร์ด กลายเป็นดีไซเนอร์ดังที่ใครๆต้องจับตามอง เป็นดีไซเนอร์ที่จับต้องอะไรกลายเป็นเงินทองไปหมด ห้องเสื้อดังอยากได้ไปทำงานด้วย ทว่าเขาขออยู่คู่กับกุชชี การทำงานแบบสองประสานดำเนินไปด้วยดีจนกลุ่ม PPR (Pinault-Printemps-Redoute) เข้าบริหารกลุ่มกุชชี นักธุรกิจอย่าง ฟรองซัวส์ ปิโนลท์ (Francois Pinault) ที่ทุ่มเงินก้อนโตเพื่อเป็นหุ้นใหญ่ของกลุ่มกุชชี มีหรือจะปล่อยให้ “คนนอก” ที่ตนไม่เคยคุ้นบริหารกิจการของตนอย่างสบายมือ นั่นเป็นที่มาของ “ปัญหา” Dom-Tom ที่เคยใหญ่คับกุชชี กลับถูกจำกัดอำนาจ แผนงานต้องผ่านความเห็นชอบของ นายแซร์จ ไวน์แบร์ก (Serge Weinberg) ประธานกลุ่ม PPR และ นายฟรองซัวส์-อองรี ปิโนลท์ (Francois-Henri Pinault) ลูกชาย นายฟรองซัวส์ ปิโนลท์ และเป็นประธานบริษัท Artemisบริษัทลูกของ PPR ที่ดำเนินธุรกิจสินค้าหรู
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่ม PPR ซื้อกิจการห้องเสื้ออีฟส์ แซงต์-โลรองต์ (Yves Saint-Laurent) ยังมอบหมายให้ ทอม ฟอร์ด เป็นดีไซเนอร์คอลเลคชั่นเสื้อสำเร็จรูปของแบรนด์เนมฝรั่งเศสนี้ อาจจะด้วยเหตุนี้ที่ทำให้ ทอม ฟอร์ด มั่นใจว่าตนยังมีความสำคัญและเป็น “ความจำเป็น” ของกลุ่ม PPR โดเมนิโก เด โซเล และ ทอม ฟอร์ด คงคิดว่าตนเป็น “ผู้สร้าง” กุชชีมากับมือเป็นเวลานับสิบปี จนเป็นที่เลื่องลือทั่วยุทธจักร อย่างไรเสีย กลุ่มนายทุนคงไม่ยอมสูญเสียตนไปเป็นแน่แท้ การต่อรองจึงเกิดขึ้น Dom-Tom ขอปรับเงินเดือนและอิสรภาพในการทำงาน กลุ่ม PPR อาจเห็นว่าในช่วงปีหลังยอดขายของกุชชีตก ประกอบกับภาพลักษณ์ของ ทอม ฟอร์ด ไม่อาจทำให้ผลประกอบการของห้องเสื้ออีฟส์ แซงต์-โลรองต์ดีขึ้น เพราะยังขาดทุนอย่างต่อเนื่อง การเจรจาหลายครั้งไม่บรรลุผล จนเป็นที่มาของการแตกหัก
เมื่อคู่แฝด Dom-Tom ประกาศไม่ต่อสัญญากับกลุ่มกุชชีที่จะสิ้นสุดลงในต้นปี 2004 อันเป็นข่าวช็อกทั่ววงการแฟชั่น เกิดคำถามว่าดีไซเนอร์ดังคนไหนอยู่ในสายตาของผู้บริหารกลุ่ม PPR ที่จะมาแทน ทอม ฟอร์ด มีการคาดเดาต่างๆนานา ในวันที่ 7 มีนาคม ทอม ฟอร์ด เสนอคอลเลคชั่นเสื้อสำเร็จรูปของห้องเสื้ออีฟส์ แซงต์-โลรองต์ที่ปารีสเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นเขาก็หมดพันธะกับกลุ่ม PPR และอาจกำลังกระหยิ่มยิ้มย่องว่าแม้จนบัดนี้ กลุ่ม PPR ยังไม่อาจหาดีไซเนอร์ที่คู่ควรแก่กุชชีและอีฟส์ แซงต์-โลรองต์ได้ ทว่าเพียงสามวันก่อนการแสดงแฟชั่นของอีฟส์ แซงต์-โลรองต์ นายแซร์จ ไวน์แบร์ก ประธานกลุ่ม PPR ก็ประกาศแผนปฏิรูปกลุ่มกุชชี ไม่มีการจ้างดีไซเนอร์ดังใดๆทั้งสิ้น มีแต่การผลักดัน “คนใน” ให้ผงาดขึ้นแทน ล้วนแต่เป็นดีไซเนอร์ที่อยู่ในทีมงานของ ทอม ฟอร์ด มาก่อน มีการตกลงในหลักการแล้ว เพียงแต่รอเซ็นสัญญาเท่านั้น
ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของ The Wall Street Journal ฉบับยุโรป จอห์น เรย์ (John Ray) จะรับผิดชอบเสื้อบุรุษของกุชชี อเลสซานดรา ปัคคีเนตตี้(Alessandra Pacchinetti) เป็นดีไซเนอร์เสื้อสตรี และ สเตฟาโน ปิลาติ (Stefano Pilati) เป็นดีไซเนอร์ทั้งเสื้อบุรุษและสตรีของอีฟส์ แซงต์-โลรองต์ ลือกันว่าก่อนหน้านี้กลุ่ม PPR ทาบทาม อเล็กซานเดอร์ แมคควีน (Alexander McQueen) มาเป็นดีไซเนอร์ห้องเสื้ออีฟส์ แซงต์-โลรองต์ แต่เขาปฏิเสธเพราะอยากพัฒนาห้องเสื้อของตนมากกว่า อย่างไรก็ตาม แซร์จ ไวน์แบร์ก ไม่ขอออกความเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้ พร้อมกับเสริมว่ากลุ่มกุชชีที่มีมูลค่าถึง 2.5 พันล้านยูโร มีบุคลากรที่มีความสามารถมากมาย ไม่อาจหวังพึ่งคนเพียงสองคนเท่านั้น เพราะจะไม่ยุติธรรมสำหรับพนักงานอีก 11,000 คน อีกทั้งชื่อเสียงและความสำเร็จของผลิตภัณฑ์กุชชีต่างหากที่ทำให้ ทอม ฟอร์ด ดังขึ้นมา ไม่ใช่ ทอม ฟอร์ด ที่ทำให้กุชชีดัง
อย่างไรก็ตาม ผู้คนยังกังขาไม่หายว่ากุชชีจะสามารถไปได้ดีหรือไม่เมื่อปราศจาก ทอม ฟอร์ด ผู้ซึ่งใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ทว่า แซร์จ ไวน์แบร์ก มีความเห็นต่างไป เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถมีโอกาสทำงานเหมือนที่ ทอม ฟอร์ด เคยได้รับโอกาสแบบนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว กลุ่ม PPR โดยผ่านบริษัท Artemis มีสินค้าหรูในครอบครองหลายยี่ห้อด้วยกัน ได้แก่ กุชชี (Gucci) อีฟส์ แซงต์-โลรองต์ (Yves Saint-Laurent) เครื่องสำอางอีฟส์ แซงต์-โลรองต์ (Yves Saint-Laurent Beaute) แซร์โจ้ รอสซี (Sergio Rossi) บูเชอร็ง (Boucheron) บอตเตก้า เวเนต้า (Bottega Veneta) อเล็กซานเดอร์ แมคควีน (Alexander McQueen) สเตลลา แมคคาร์ทนีย์ (Stella McCartney) บาเลนเซียก้า (Balenciaga) โรเจร์เอต์กัลเลต์ (Roger & Gallet) แต่ละยี่ห้อควรมีผู้บริหารและดีไซเนอร์อย่างละหนึ่งคนเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน แต่ทุกยี่ห้อจะมีผู้อำนวยการฝ่ายการเงินคือ นายอเล็กซิส บาโบ (Alexis Babeau) เป็นผู้กำกับดูแลอีกทีหนึ่ง
ทันทีที่ Dom-Tom ประกาศลาออก นายแซร์จ ไวน์แบร์ก เดินทางไปอิตาลีและลอนดอน ขณะที่ นายฟรองซัวส์-อองรี ปิโนลท์ ไปนิวยอร์กเพื่อตรวจตลาดของกุชชี แล้วจึงวางแผนปฏิรูป ในแผนงานใหม่ ต้องมีความร่วมมือ ใกล้ชิด ระหว่างประธานกลุ่ม PPR และผู้อำนวยการของกุชชี ซึ่งจะต้องเป็นนักบริหารที่มีความเป็นอินเตอร์และรู้จักโลกของสินค้าหรูอย่างลึกซึ้ง คนที่เข้าสเป็คดูเหมือนจะเป็นอัน โตนิโอ เบลโลนี(Antonio Belloni) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการของกลุ่ม LVMH อันเป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นอริกับกลุ่ม PPR และอดีตประธานบริษัท Procter & Gamble Europe ดูเหมือนว่ากลุ่ม PPR จะไม่กังวลกับการสูญเสีย ทอม ฟอร์ด นัก เมื่อคำนึงถึงว่าแม้โกโก้ ชาแนล และคริสติออง ดิออร์ จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ห้องเสื้อชาแนล และดิออร์ยังคงอยู่ นอกจากนั้นเบอร์เบอรีซึ่งหายเงียบไปนาน ก็ยังสามารถคืนกลับวงการแฟชั่นได้ ด้วยว่าแบรนด์เนมเหล่านี้ได้สร้างชื่อไว้นานปี อีกทั้งผู้บริโภคสนใจซื้อสินค้าที่มีโลโก้เหล่านี้มากกว่าจะสนใจว่าใครเป็นผู้ออกแบบ
credit: http://eak-za.blogspot.com