Tuesday, February 7, 2012

“วิเวียน เวสต์วูด” (Vivienne Westwood) เธอคือ กบฎแห่งวงการแฟชั่น

ชีวิตเธอได้บอกอะไรแก่เรา? (นอกจากเป็น“แฟชั่นดีไซเนอร์”ระดับโลก)

วิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) ชื่อจริงคือ Vivienne Isabel Swire
เกิดเมื่อ 8 เมษายน 1941 ที่เมืองGlossop, Derbyshire เป็นดีไซเนอร์ ในแนวพังค์ร็อก และนิวเวฟ และเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในวงการแฟชั่นระดับโลก นับตั้งแต่ยุค 70 เป็นต้นมา ในช่วงของยุค "พังค์"(Punk) เสื้อผ้าของเธอได้ร่วมกับ Malcolm McLaren ผู้จัดการวงดนตรีพังค์ร็อก ที่ชื่อ “เซ็กซ์ พิสทอลส์” (Sex Pistols)*** เสื้อผ้าและสไตล์แฟชั่นโลกก็ถูกกำหนดโดยเอ จากการสวมใส่ของนักดนตรีในวง ทำให้เธอเริ่มมีชื่อเสียง ในปี 1970 เป็นต้นมา...

เธอเป็นเด็กสาวชาวอังกฤษ แม่เป็นช่างทอผ้าในโรงงานท้องถิ่น พ่อมาจากครอบครัวช่างทำรองเท้า เธอก้าวเดินออกมาจากครอบครัวของชนชั้นกรรมาชีพหรือผู้ใช้แรงงาน(กรรมกร)ด้วยความสนใจในวงการแฟชั่น ไปเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยการศิลปะแห่งแฮร์โรว์ โดยเลือกวิชาแฟชั่นและการทำเครื่องเงิน แต่เรียนได้เพียงแค่เทอมเดียวก็ลาออก เมื่อย้อนมองกลับไปกลับมาถึงอนาคตของตัวเองก็พบว่า มันคงไม่มีที่ยืนให้แก่ เด็กสาวจากชนชั้นกรรมกรแบบเธออย่างแน่นอน ในเมื่อวงการแฟชั่นนั้นมันเป็นเรื่องราวก็เฉพาะแต่ในชนชั้นสูงเท่านั้น

เหตุผลที่ว่านั้นคือ "ไม่รู้ว่าเด็กสาวพื้นเพชนชั้นกรรมกรอย่างฉัน จะมีปัญญาทำมาหากินอะไรได้ในโลกศิลปะ" กลายเป็นจุดเริ่มต้นการต่อต้านความอยุติธรรมในระบบชนชั้นของเมืองผู้ดี จึงเป็นที่มาของคำว่า “Anarchy” ดังที่ปรากฎอยู่ในอัลบั้มเพลงของ Sex Pistols เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสไตล์ที่เหล่านักร้องวงนี้สวมใส่

ดนตรีและแฟชั่นแนว"พังก์"ในยุค 70 นั้น เป็นสัญลักษณ์การต่อต้านความคิดของคนยุคเก่าที่ยึดติดกับระบบชนชั้นของสังคมอังกฤษ โดยเกิดจากแรงผลักดันของวัยรุ่นสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานดนตรีและแฟชั่นที่มีเนื้อหากบฏต่อสังคม สิงที่นำเสนอมิใช่เพียงแค่ภาพของการแต่งตัวที่ฉีกกฎออกไปจากเดิมเท่านั้น แต่เป็นการนำสังคมก้าวเดินออกจาก"ทัศนคติเดิมๆ"

ตั้งแต่นั้น เธอก็ทำให้ผู้คนในสังคมโลกต่างก็ต้องจับมองที่ตัวเธอในทุกย่างก้าวแทนแฟชั่นดีไซเนอร์คนอื่นๆ

วิเวียนใช้พลังที่การถูกสังคมครอบงำและกดดันในตัวเอง แปรเปลี่ยนเป็นพลังทางความคิดสร้างสรรค์ และหาญกล้าท้าทายต่อกรอบประเพณีของสังคมเดิมๆ

เมื่อการแต่งกายแบบพังค์ถึงจุดอิ่มตัวในช่วงปลายทศวรรษ 70 ก็เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง เธอศึกษาค้นคว้าเพื่อหาสไตล์ของตัวเองอีกครั้ง ด้วยการนำ 2 คอลเลคชั่นมารวมกันเป็นหนึ่ง เป็นแนวทางการก้าวเดินต่อไปของอาชีพการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์อย่างชาญฉลาด

นั่นเท่ากับเป็นการสร้าง “แคทวอร์ค” ให้เธอมีทางก้าวเดินต่อไปในวงการแฟชั่นนั่นเอง ไม่ใช่ทำเพื่อใคร...!

ในปี 1984 วิเวียน นำเอารูปทรงรัดรูปของเสื้อผ้าสตรีสมัยก่อนมาตัดทอน และดัดแปลงในคอลเลคชั่นใหม่ พร้อมรองเท้าส้นตึกสูง 6 นิ้วขึ้นไป (กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเธอไปโดยปริยาย) ด้วยเหตุผลว่า รองเท้าส้นสูงนั้นช่วยให้ช่วงขาดูยาวขึ้น และทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในการอำพรางสัดส่วนอื่นให้ดูดีตามไปด้วย

รองเท้าส้นตึก ที่เธอออกแบบ ก็ทำให้เธอเองได้พบสัจธรรม เมื่อครั้งนางแบบดังอย่าง "นาโอมิ แคมเบลล์" ถึงกับตกส้นตึกของวิเวียนกลางแคตวอล์ก

"แฟชั่นเหมือนกับการไต่อยู่บนราวสูง เสี่ยงต่อการอับอายถ้าร่วงลงมา แต่ถ้ายังเดินต่อไปได้นั่นคือ ชัยชนะ"

ไม่กี่ปีถัดมา วิเวียนนำชุด"คอร์เส็ต" (Corsets) ซึ่งเป็นชุดชั้นในสาวสังคมชั้นสูงในยุควิกตอเรียนที่รัดให้เอวคอดกิ่วและมีหน้าอกที่ใหญ่นูนขึ้น แต่ได้ถูกยกเลิกไปเพราะถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์การกดขี่ทางเพศ วิเวียนนำมาปรับแก้โดยเย็บด้วยการใช้ผ้ายืดให้มีการใส่สบาย และดัดแปลงให้ใส่ได้ทั้งข้างในและข้างนอก แล้วตั้งชื่อคอลเลกชั่นแบบประชดประชันแนวคิดเฟมินิสต์ว่า “the Statue of Liberty Corset” (เทพีเสรีภาพคอร์เส็ต)

"คริโนลีน" กระโปรงสุ่มไก่ในแบบชุดราตรี สัญลักษณ์ความงามสง่าของสาวยุควิกตอเรียน แต่ไม่เป็นที่นิยม นำมาแก้ไขด้วยการตัดให้สั้นลงเป็นชุดลำลองใส่ไจริงทุกโอกาส และเปลี่ยนโครงเสียใหม่ให้สามารถบิดพับกลับเข้ารูปได้โดยไม่เสียทรง และต่อยอดด้วยการใส่ซับในซ้อนเข้าไป เพื่อเพิ่มความพลิ้วไหวเมื่อย่างเท้าก้าวเดินจนกลายเป็นเอกลักษณ์ชุดกระโปรงสั้นของวิเวียนจนทุกวันนี้

มาถึงวันนี้...และสาเหตุนี้คงไม่ต้องบอกว่า เพราะเหตุใด วิเวียน เวสต์วูด เธอจึงได้กลายเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นโลกไปเสียแล้ว

"กล้าที่จะยืนนอกกรอบ แล้วบอกว่านี่คือ สิ่งที่ฉันต้องการ" เป็นอย่างที่วิเวียน เวสต์วูด เธอบอก

"เหตุผลเดียวที่ฉันอยู่ในวงการแฟชั่น ก็เพื่อใช้เสื้อผ้าที่ฉันออกแบบ ต่อต้านและทำลายความยึดมั่นในระบบเดิม" วิเวียน เวสต์วูด ถูกกล่าวถึงว่า เธอคือ กบฎแห่งวงการแฟชั่น

วิเวียน เวสต์วูด เธอเป็นตัวอย่างที่หาญกล้าออกมายืนท้าทายความคิดของผู้คนในสังคม ในโลกแห่งแฟชั่นแล้ว จนเกิดเป็นแนวแฟชั่นการแต่งกายแบบใหม่ ไฉไลตามแบบฉบับของตัวเอง จนคนอื่นต้องไฉไลตามเธออย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ดังที่เราเห็นเกลื่อนตาตามท้องถนนรนแคม บางคนไม่รู้ที่มาที่ไปในแฟชั่นที่ตนเสพใส่ ทั้งที่แท้ที่จริงมันคืออาภรณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของผู้ใส่เสียเอง

ไม่ต่างอะไรไปจากนักเขียนที่ต้องกล้าหาวิถีทางใหม่ๆ ให้แก่ตัวเอง และก้าวออกไปเป็นผู้นำ และก็ไม่ต่างอะไรไปจากการเสพ “หนังสือที่คุณอ่าน” เพราะต่างก็คือ อาภรณ์ของความคิด....

วิเวียน เวสต์วูด พูดแบบเอามือลูบหน้าบรรดาศิลปินทั้งหลาย แล้วตบอย่างเบาๆ ว่า ...."งานของฉันคือ การประจันหน้ากับสถาบันทางสังคม พยายามค้นหาว่าอิสรภาพของฉันเองอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรเพื่อให้ได้มันมา"

แม้เสื้อผ้าของวิเวียน เวสต์วูด หลายชิ้นอาจถูกวิจารณ์ว่า "ใส่จริงไม่ได้" ทั้งความแปลกของวัสดุ ลวดลาย สัดส่วนโครงสร้าง และแพตเทิร์นการตัดเย็บ แต่เธอก็มีมุมมองว่า

"เสื้อผ้าของฉันอาจดูนอกลู่นอกทาง เพียงเพราะผู้คนไม่ได้คาดคิด แต่สิ่งที่ฉันทำก็เพื่อประณามความจืดชืดและความน่าเบื่อของแฟชั่นธรรมดาเหล่านั้น"

บทความนี้ไม่อาจมีเขียนบทสรุปอะไรมากไปกว่าที่ วิเวียน เวสต์วูด ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้นแล้ว


*** บีบีซี ยกย่องวง Sex Pistols ว่า "เป็นที่สุดของพังค์ร็อกในอังกฤษ"


ลิงก์อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.vam.ac.uk/vastatic/microsites/1231_vivienne_westwood/biography1.html



credit: http://www.oknation.net/
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...